- หน้าแรก
- สินค้า
- แคตตาล็อก
- ข่าวสารและกิจกรรม
- เกี่ยวกับเรา
- ติดต่อเรา
เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตัดตอนการจ่ายไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่เป็นทั้งสวิตซ์ไฟฟ้าที่ผู้ใช้สามารถเปิด-ปิดด้วยมือ และทำหน้าที่ตัดการจ่ายไฟโดยอัตโนมัติ เมื่อวงจรไฟฟ้าเกิดปัญหาหรือมีกระแสไหลผ่านเกินกว่าค่าที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันกระแสลัดวงจรเช่นเดียวกับฟิวส์ (Fuse) แต่เมื่อตัดวงจรแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเปิดสวิตซ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ให้ระบบไฟฟ้ากลับมาใช้งานได้ปกติ
วันนี้ Sale’ “ซาเล่” จะพาทุกคนมาเรียนรู้เกี่ยวกับประเภทต่าง ๆ ของ เซอร์กิต เบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage Circuit Breaker) เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบที่ ใช้งานเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักๆ ก็คือ MCB, RCD, MCCB และ ACB ความสามารถจะแตกต่างกันในแต่ละประเภท ดังนี้
1. มินิเอเจอร์ เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Miniature Circuit Breaker: MCBs)
หรือ “เบรกเกอร์ลูกย่อย” เป็นเบรกเกอร์ขนาดเล็กที่มักใช้ติดตั้งร่วมกับแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center) หรือแผงจ่ายไฟในห้องพักอาศัยทั่วไป หรือที่เรียกว่าตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิท (Consumer unit) มีพิกัดกระแสลัดวงจรต่ำ ซึ่งไม่สามารถปรับตั้งค่าการตัดวงจรไฟฟ้าได้ แต่อาศัยความร้อนและสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการตัดวงจร เหมาะสำหรับใช้ในบ้านหรืออาคารที่มีกระแสไฟฟ้าที่ไม่เกิน 100A มี 1-4 Pole โดยสามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้า 1 เฟส 2 เฟส และ 3 เฟส ส่วนที่นิยมใช้กันคือแบบ Plug-on ซึ่งติดตั้งง่ายแค่ดันตัวเบรคเกอร์เข้ากรอบที่เตรียมไว้ และแบบ Din-rail ที่ใช้เครื่องมือช่างทั่วๆไปในการประกอบ
2. เรซิดูออล เคอร์เรนท์ ดีไวซ์ (Resident Current Devices: RCDs)
หรือ “เบรกเกอร์กันดูด” เป็นเบรกเกอร์ที่สามารถตัดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติ ในกรณีที่เกิดความผิดปกติในระบบไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟดูด ไฟรั่ว ตามตำแหน่งที่ตั้งไว้ มีการติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิท และตู้ควบคุมไฟฟ้า (Electrical Control Cabinet) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
2.1 Residual Current Circuit Breakers (RCCBs) เป็นแบบที่จะช่วยตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดการรั่วไหลเท่านั้น โดยไม่สามารถใช้ตัดการลัดวงจรของกระแสไฟได้ ซึ่งจะใช้ควบคู่กับเบรกเกอร์ขนาดเล็ก
2.2 Residual Current Circuit Breakers with Overload protection (RCBOs) เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยป้องกันไฟดูดหรือไฟช๊อตพร้อมเบรกเกอร์ในตัว ด้วยคุณสมบัติที่จะช่วยตัดไฟได้ในเวลาที่มีไฟรั่วหรือมีกระแสลัดวงจร
3. โมลเคส เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Moulded Case Circuit Breaker: MCCB)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ที่ใช้ในการควบคุมการจ่ายไฟฟ้า นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีคุณสมบัติที่ทนกระแสลัดวงจร และยังสามารถรองรับกระแสที่สูงกว่าเบรกเกอร์ลูกย่อยได้ โดยจะใช้ได้ตั้งแต่กระแสไฟ 100-2300A การเลือกใช้ MCBกับMCCB ต้องดูที่ค่าพิกัดกระแสลัดวงจรสูงสุดที่ปลอดภัยของเบรกเกอร์ตัวนั้นๆ เป็นสำคัญ
4. แอร์ เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Air Circuit Breaker: ACB)
เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ขนาดใหญ่ที่สุดของเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำโดยสามารถป้องกันสายเมน ซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูง มีลักษณะโครงสร้างที่แข็งแรงทำด้วยเหล็กและมีช่องดับอาร์ก (Arcing chamber) เพื่อให้รองรับกระแสไฟลัดวงจรจำนวนมากได้ มีการตรวจจับและวิเคราะห์กระแสเพื่อสั่งปลดวงจรด้วยอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ทนทานต่อกระแสไฟฟ้าลัดวงจรสูงถึง 6300A มีราคาแพง ถูกติดตั้งไว้ในตู้ MDA โดยมีทั้งที่ติดตั้งอยู่กับที่และแบบถอดออกได้ เป็นชนิดที่สามารถเพิ่มอุปกรณ์เสริมเข้าไปได้ตามความต้องการ แอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์นำไปใช้ในอาคาร สถานที่ที่มีการใช้กำลังไฟฟ้ามาก ๆ เช่นโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล อาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ อาคารสูง มีขนาดตามพิกัด เช่น 800, 1000, 1250, 1600, 2000, 2500, 3200, 4000 แอมแปร์ เป็นต้น นอกจากนี้ แอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์จะต้องสามารถทนกระแสฉับพลัน (Interrupting Current) มีหน่วยเป็น กิโล-แอมแปร์ (Kilo-Ampere) หรือ KA. ซึ่งเป็นตัวกำหนดพิกัดของแอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์อีกค่าหนึ่งด้วย เช่น 42,65,100 กิโล-แอมแปร์ (1 Kilo-Ampere = 1000 Ampere)
ควรเลือกใช้เซอร์กิต เบรกเกอร์ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับอาคารหรือสถานที่นั้นๆ และควรจะเลือกเซอร์กิต เบรกเกอร์ ที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อความปลอดภัยสูงสุด
เซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) ของ Sale’ “ซาเล่” ได้รับรองมาตรฐานการผลิตมากมายทั้ง CE (ยุโรป), JIS (ญี่ปุ่น), IEC (สมอ.) และ ISO 9001 ทำให้มีความปลอดภัยสูง มีให้เลือกหลายแบบ ตั้งแต่เซอร์กิต เบรกเกอร์ที่ใช้ในครัวเรือน จนถึงเซอร์กิต เบรกเกอร์ในเชิงอุตสาหกรรม หากคุณต้องการที่จะเลือกซื้อ หรือเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมของเซอร์กิต เบรกเกอร์ สามารถดูได้ในเว็บไซต์ Sale’ “ซาเล่” เลยครับ